ค้นหาบล็อกนี้

ชื่อปลา

ปลากระทิงไฟ ชื่อสามัญ : Fire Spiny Eel ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mastacembelus erythrotaenia ลักษณะทั่วไปเป็นปลาน้ำจืดที่อยู่สกุลเดียวกับปลากระทิงดำ รูปร่างคล้ายปลาไหล มีขนาดความยาวประมาณ 20 - 70 เซนติเมตร ลำตัวเรียวยาว และแบนข้าง มีจะงอยปากเป็นติ่งเล็กยื่นออกมาทำหน้าที่รับความรู้สึก พื้นลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ข้างลำตัวมีเส้นหรือจุดสีแดงขนาดใหญ่และเล็กเรียงตามความยาวลำตัวบริเวณนัยน์ตาจนถึงโคนครีบหาง ครีบหางและครีบก้นเชื่อมติดกันถึงครีบหลังตอนท้าย ครีบทั้งหมดมีสีแดงสด บริเวณขอบครีบหนังเป็นกระดูกแหลมแข็งสำหรับป้องกันตัวจากศัตรู ครีบหูมีสีดำขอบแดง ลักษณะทางอนุกรมวิธานที่แตกต่างจากปลากระทิงชนิดอื่นคือ ปลากระทิงไฟไม่มีกระดูกที่เป็นหนามแหลมอยู่บริเวณหน้า นัยน์ตา ปลากระทิงไฟที่พบในภาคกลาง จะมีสีแดงสดใสกว่าแหล่งน้ำอื่น ถิ่นอาศัยประเทศไทย มีอยู่ในบริเวณน้ำจึดและน้ำกร่อย ในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ทางภาคใต้ที่ทะเลน้อย (ทะเลสาบสงขลาตอนใน) แม่น้ำตาปี ชาวใต้เรียกชื่อปลานี้ว่าปลากระทิงลายดอกไม้ อาหารแมลง ลูกกุ้ง ลูกกบ และปลาขนาดเล็ก 
ปลากระแหทอง (ปลากระแห หรือ ปลาตะเพียนหางแดง) ชื่อสามัญ : Schwanenfeld's Tinfoil Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barbodes schwanenfeldi
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างป้อมสั้น ลำตัวแบนข้าง หัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ นัตย์ตาเล็ก ปากเล็กและอยู่ปลายสุด หนวดเล็กและสั้นมี 2 คู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่ ครีบกระโดงหลังสูง และกว้างมีสีแดง ลำตัวเป็นสีขาวเงินและสีเหลืองปนส้ม ด้านหลังสีเทาปนเขียว แก้มสีเหลืองปนแดง ขนาดของลำตัวความยาว 15 - 35 เซนติเมตร
นิสัย
รักสงบ อยู่รวมกันเป็นฝูง ปราดเปรียว ว่องไว ไม่อยู่นิ่งชอบว่ายน้ำตลอดเวลา
ถิ่นอาศัย
พบทุกภาคในประเทศไทย ทำให้มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป
อาหาร
พืชพันธุ์ไม้น้ำ ตัวอ่อนแมลงน้ำ ซากสัตว์และพืชที่เน่าเปื่อย
 

ปลากระโห้ 
ชื่อสามัญ : Siamese Giant Carp
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Catlocarpio siamensis
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง เป็นปลาน้ำจืดจำพวก ปลาตะเพียน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวค่อนข้างป้อมแบนข้าง พื้นลำตัวสีเทาแซมชมพู สันหลังเป็นสีน้ำตาลอมดำ ด้านข้างและส่วนท้องมีสีจางกว่า ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีหัวยาวและใหญ่ผิดปกติ หัวมีผิวเรียบมัน ไม่มีเกล็ดคลุม ความยาวของหัวประมาณ 1ใน3 ของลำตัว ตาโตและยื่นโปน ริมฝีปากล่างหนาและยื่นออกมาพ้นริมฝีปากด้านบน ปากกว้างขากรรไกรยาวถึงบริเวณตา มีฟันที่คอหอยเป็นแถวอยู่ข้างละแถว ไม่มีหนวด เกล็ดมีขนาดใหญ่ขอบเรียบ ครีบหลังสูงและอยู่ตรงกับครีบท้อง ครีบก้นค่อนข้างยาว ครีบหางเป็นแถบเว้าลึก ครีบทุกอันมีสีแดงปนส้ม ปลาตัวผู้มีลำตัวเล็กและเรียว ส่วนท้องแบบเรียบสีดำคล้ำกว่าตัวเมีย
นิสัย
มีนิสัยรักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมเป็นฝูงในแหล่งน้ำลึก แข็งแรงและอดทน
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย เคยมีอยู่ชุกชุมในลุ่มแม่นํ้า แม่กลอง เจ้าพระยาจนถึงบอระเพ็ดในปัจจุบันมีปริมาณน้อยลงมาก แต่ก็ยังมีปรากฏให้พบเห็นอยู่บ้างในลำนํ้าโขง ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า ปลากะมัน หรือ หัวมัน
อาหาร
แพลงก์ตอน พืชนํ้า 

ปลากระสูบขีด 
ชื่อสามัญ : Transverse-bar Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hampala macrolepidota
ลักษณะทั่วไป
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน ลำตัวค่อนข้างยาว ด้านข้างแบนท้องกลมมน จะงอยปากแหลมปากกว้างและเอียงขึ้นเล็กน้อย มีหนวดที่มุมปาก 1 คู่ ครีบหลังอยู่ตรงข้ามกับครีบท้อง เกล็ดใหญ่ สีของตัวจะเป็นสีขาวเงิน มีลายดำพาดขวางลำตัว หางสีแดงสด ครีบสีแดงหรือสีส้ม มีขนาด 20-50 เซนติเมตร
นิสัย
ว่องไวปราดเปรียวและตื่นตกใจง่าย โดยทั่วไปมีนิสัยก้าวร้าวไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงรวมกับชนิดอื่นเพราะแม้แต่พวกเดียวกันเอง ถ้ามีขนาดแตกต่างกัน หากนำมาเลี้ยงรวมกันจะกัดกันเอง
ถิ่นอาศัย
พบในแม่น้ำ ลำคลองทั่วไปทุกภาคของไทย
อาหาร
ลูกปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร
การสืบพันธุ์
ไม่ปรากฏในรายงาน 

ปลากราย (ปลาหางแพน หรือ ปลาตองกราย) 
ชื่อสามัญ : Spotted Featherback
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chitara ornata
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดรูปร่างคล้ายปลาฉลาก ท้องแบน ลำตัวด้านข้างแบนมากสันหลังส่วนต้นสูงชันและค่อย ๆ ลาดลงไปยังส่วนหางคล้ายมีด พื้นที่ลำตัวสีเทาเงิน ลำตัวส่วนบนสีคล้ำกว่าด้านล่าง เกล็ดละเอียด หัวมีขนาดเล็กปลายหัวแหลมมน ปากกว้างสั้นทู่ นัยน์ตาเล็ก มีฟันแหลมคมบนขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง ครีบหลังขนาดเล็กปลายมนคล้ายขนนก ครีบท้องยาวเป็นแพรเชื่อมกับครีบหาง เหนือครีบก้นมีจุดดำกลางขนาดใหญ่ล้อมรอบ ด้วยวงแหวนสีขาวเรียบเป็นแถวอยู่ 5 - 10 จุด ลูกปลากรายเมื่อยังเล็กมีแถบสีดำประมาณ 10 -15 แถบพาดขวางลำตัว เมื่อโตขึ้นแถบดำเหล่านี้จะค่อยจางหายไปกลางเป็นจุดขึ้นมา แทนที่ มีขนาดความยาวประมาณ 48 - 85 เซนติเมตร
นิสัย
ชอบอยู่รวมเป็นฝูงเล็กๆ และหลบพักตามตอไม้ หรือซอกหิน ไม่ชอบแสงสว่างมากจึงมักออกหากินในเวลากลางคืน ชอบผุดขึ้นมาทำเสียงที่ผิวน้ำแล้วม้วนตัวกลับให้เห็นข้างสีเงินขาว
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย พม่า อินเดีย มาเลเซีย ในไทยพบทั่วไปตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง ภาคเหนือเรียกว่า ปลาแพน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ปลาตองกราย
อาหาร
แมลงน้ำ ลูกกุ้ง ปลาผิวน้ำตัวเล็กๆ

ปลาก้าง
ชื่อสามัญ : Red-tailed Snakehead
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Channa gachua
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่มีลำตัวสีเทา ครีบหลัง,ครีบหาง และครีบก้นมีสีแดงสด มีความยาวลำตัวไม่เกิน 20 เซนติเมตร
นิสัย
รับสงบ อดทน สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี
ถิ่นอาศัย
อาศัยในแม่น้ำ หนองบึง คลอง ลำธารที่อยู่บนภูเขาสูง สามารถอาศัยอยู่บริเวณที่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2000 ฟุต
อาหาร
ลูกปลา ลูกกุ้ง และตัวอ่อนของแมลง

ปลากา (ปลาเพี้ย) 
ชื่อสามัญ : Greater Black Shark
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morulius chrysophekadion
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดขนาดกลาง ลำตัวเรียวยาวแบนข้าง พื้นลำตัวสีม่วงดำหรือน้ำเงินดำ เกล็ดมีขนาดใหญ่คลุมตลอดลำตัวยกเว้นส่วนหัว หัวเรียวแหลม ปากยืดหดได้ ไม่มีฟัน ริมฝีปากบนและล่างเป็นหยัก มีติ่งเนื้อเป็นฝอยสั้น ๆ อยู่รวมกันเป็นกระจุก มีหนวด 2 คู่ ครีบหลังมีขนาดใหญ่และสูงมาก ครีบหู ครีบท้อง และครีบก้น เรียวยาวและมีขนาดไล่เลี่ยกัน ครีบหางยาวเป็นแฉกเว้าลึก ครีบทุกครีบมีสีดำ
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย แหล่งน้ำที่มีระดับน้ำตื้นๆ และมีพันธุ์ไม้น้ำ
อาหาร
ตะไคร่น้ำ พืชน้ำขนาดเล็ก แพลงก์ตอน ซากพืชและตัวอ่อนแมลงน้ำ 

ปลาตะพัด
ชื่อสามัญ : Malayan Bonytongue
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scleropages formosus
ลักษณะทั่วไป
ปลาน้ำจืดโบราณชนิดหนึ่ง ลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร น้ำหนักมากกว่า 7 กิโลกรัม ลำตัวแบนด้านข้างส่วนท้องแบนเป็นสันคม เกล็ดมีขนาดใหญ่และหนา เกล็ดบนเส้นข้างตัวมี 21-24 เกล็ด ครีบหลังและครับก้นตั้งอยู่ค่อนไปทางปลายหาง ครีบอกค่อนข้างยาวประมาณหนึ่งในสามของความยาวลำตัว ครีบหางมนกลมปากกว้างมากเฉียงขึ้นด้านบน ที่ตอนปลายขากรรไกรล่างมีหนวดขนาดใหญ่แต่สั้น 1 คู่
นิสัย
มีนิสัยก้าวร้าว หวงถิ่น ชอบกัดและทำร้ายปลาชนิดื่นแม้แต่ปลาชนิดเดียวกันจึงไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น
ถิ่นอาศัย
ปลาตะพัดมีเขตแพร่กระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศไทย ไปถึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย พบอาศัยอยู่ในลำธารน้ำไหลเอื่อยๆ ในบริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด และแม่น้ำลำคลองหลายสายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสตูล มักเป็นลำธารที่มีน้ำค่อนข้างขุ่นมีลักษณะเป็นกรดน้อยและท้องน้ำเป็นหินปนทราย
อาหาร
ปลาขนาดเล็ก กบ เขียด ลูกกุ้งและสัตว์น้ำอื่น ๆ รวมทั้งสัตว์บกขนาดเล็กที่ตกลงไปในน้ำ
การสืบพันธุ์
ปลาชนิดนี้มีลักษณะการสืบพันธุ์ที่แปลกจากปลาอื่น ๆ โดยวางไข่จำนวนน้อยฟอง แม่ปลาที่มีน้ำหนักตัว3-6 กิโลกรัม จะวางไข่เพียง 40-100 ฟอง ไข่แต่ละฟองมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างเฉลี่ย 1.72 เซนติเมตร เมื่อวางไข่ออกมาแล้วจะฟักไข่โดยการอมเอาไว้ในปากจนกระทั่งไข่ถูกฟักออกเป็นตัว และจะคอยดูแลลูกปลาหากมีศัตรูเข้ามาใกล้ แม่ปลาจะอ้าปากออกให้ลูกปลาเข้าไปหลบภายในปากหรือ พาหนีไปให้พ้นอันตราย
สถานภาพ
สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 

ปลาตะเพียนขาว (ปลาตะเพียน)
ชื่อสามัญ : Common Silver Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barbodes gonionotus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่รู้จักดีตั้งแต่สมัยสุโขทัย ลักษณะ ลำตัวอ้วนป้อม หัวเล็กเกล็ดใหญ่ ปากเล็ก ลักษณะที่แตกต่างจากพวกเดียวกันคือมีก้านครีบอ่อนของครีบก้นอยู่ 6 ก้าน ส่วนชนิดอื่นมี 5 ก้าน สีของลำตัวเป็นสีเขียวอมฟ้า ด้านหลังสีน้ำตาลปนเทา ท้องสีขาว เป็นปลาที่ปราดเปรียวว่ายน้ำรวดเร็ว กระโดดได้สูงมาก มีขนาดความยาวประมาณ 8 - 20 เซนติเมตร
นิสัย
รับสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงนอกจากเวลาสืบพันธุ์หรือวางไข่ มีความว่องไวปราดเปรียว ชอบหลบซ่อนตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงที่มีกระแสน้ำไหลอ่อน ๆ หรือน้ำนิ่ง เป็นปลาที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี สามารถนำมาเลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ง่าย
ถิ่นอาศัย
พบในแหล่งน้ำไหล และน้ำนิ่งในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อาหาร
พืช เมล็ดพืช เมล็ดพืชตระกูลหญ้า สาหร่าย ตะไคร่น้ำ ซากพืชซากสัตว์ แพลงตอน และไรน้ำ 

ปลาตะเพียนทอง
ชื่อสามัญ : Red-tail Tinfoil Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barbodes altus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดขนาดกลางมีความยาวประมาณ 3-8 นิ้ว สีสันสวยงาม ลำตัวป้อมแบนข้าง พื้นลำตัวมีสีเงินหรือทอง หัวและปากค่อนข้างเล็ก มีหนวด 2 คู่อยู่ที่ขากรรไกรบนและล่าง ครีบหลังสูงมีสีเทาและส่วนยอดของครีบสีดำ ครีบหางยาวเป็นแฉกเว้าลึกเป็นสีเหลือง ขอบหางเป็นสีเทาจาง ๆ ครีบท้องและครีบก้นเป็นสีเหลืองส้มสลับแดง
นิสัย
มีความว่องไวและปราดเปรียว อยู่รวมกันเป็นฝูงหากินและวนเวียนอยู่ตามผิวน้ำ
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย มีอยู่ทั่วไปในน่านน้ำจึด และบางทีก็เข้าไปอาศัยอยู่ในลำคลอง หนองและบึงต่างๆ และมีชุกชุมมากในภาคกลาง ภาคเหนือเรียกว่า ปลาโมงค่า ภาคอีสานเรียกว่า ปลาปาก ภาคใต้เรียกว่าปลาตะเพียนทอง
อาหาร
พืชน้ำและสาหร่ายขนาดเล็ก

ปลาตองลาย
ชื่อสามัญ : Blanc's Striped Featherback
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chitara blanci
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาสลาด ปลากราย และปลาสะตือ ลำตัวเรียวยาวด้านข้างแบนมาก พื้นลำตัวสีขาวเงิน ส่วนหลังมีสีน้ำตาลเข้มอมดำ หรือสีเทาอมเขียว บริเวณส่วนหน้าของลำตัวมีจุดสีดำประปรายอยู่ข้างลำตัว ส่วนท้ายมีขีดสีดำเล็ก ๆ พาดเฉียงจากส่วนบนของลำตัวไปถึงครีบก้นและครีบหาง หัวมีขนาดเล็ก ปากกว้าง เกล็ดมีขนาดเล็กสีขาวเงิน ส่วนหลังของปลาถึงบริเวณหัว มีความลาดชันมาก ครีบหลังมีขนาดเล็ก ครีบก้นเป็นแนวยาวและเชื่อมติดกับครีบหางโดยเฉพาะในปลาตองลายตัวผู้ กล้ามเนื้อบริเวณนี้ มีขนาดใหญ่และหนา ชาวบ้านเรียกว่า เชิงปลา
ถิ่นอาศัย
แม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำแหล่งเดียวในโลกที่มีปลาชนิดนี้อาศัยอยู่
อาหาร
ปลา ลูกกุ้ง สัตว์น้ำขนาดเล็ก 

ปลาพลวง (พลวงหิน หรือ ปลามุง)
ชื่อสามัญ : Soro Brook Carp
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neolissocheilus soroides
ลักษณะทั่วไป
มีขนาดลำตัวยาวด้านข้างแบน มีเกล็ดขนาดใหญ่ หัวเล็ก กระโดงหลังค่อนข้างสูง ครีบหูมีขนาดเล็ก ครีบท้องและครีบก้นมีขนาดใกล้เคียงกัน ลำตัวมีสีน้ำตาลปนเขียว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ๆ ละ 10 - 20 ตัว มีขนาดความยาวประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร
นิสัย
รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง
ถิ่นอาศัย
ชอบอยู่บริเวณน้ำตก และลำธารบนภูเขา พบทั่วไปทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อาหาร
แมลง พืช และผลไม้
ปลานวลจันทร์ 
ชื่อสามัญ : Small Scale Mud Carp
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cirrhina microlepis
ลักษณะทั่วไป
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน มีรูปร่างเพรียวบาง ลำตัวค่อนข้างกลม ปากเล็ก สีของลำตัวมีตั้งแต่สีส้มปนเทา จนถึงน้ำตาลปนสีขาวเงิน ท้องสีขาว ครีบหลัง ครีบหางเป็นสีน้ำตาลปนเทามีขนาดความยาวประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร
นิสัย
ปราดเปรียวว่องไว ไม่ค่อยอยู่นิ่ง อดทน เลี้ยงง่าย ชอบว่ายอยู่บริเวณพื้นน้ำ มักพบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ และหลบซ่อนตัวอาศัยอยู่ตามรากไม้หรือโขดหิน
ถิ่นอาศัย
พบในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อยุธยาจนถึงนครสวรรค์ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบแถบชายทะเล ชายแดนติดต่อแม่น้ำโขง
อาหาร
พืช แมลง และกุ้ง 

ปลาน้ำเงิน (ปลานาง) 
ชื่อสามัญ : Common Sheatfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Micronema apogon
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่รูปร่างคล้ายปลาเนื้ออ่อน ลำตัวเรียวยาวและแบนข้าง ไม่มีเกล็ด พื้นลำตัวสีขาวเงิน ส่วนหลังมีสีดำอมเขียว หัวแบนสั้นและตาเล็ก ปากค่อนข้างกว้าง มีฟันแหลมคมอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง ครีบหูใหญ่ปลายมน ครีบท้องมีขนาดเล็ก ครีบก้นเป็นแผงยาว แต่ไม่มีครีบหลัง สันหลังบริเวณต้นคอสูงและลาดต่ำลงไปทางปลายหาง ครีบหางยาวเป็นแฉกเว้าลึก
นิสัย
เป็นปลาที่มีลักษณะนิสัยก้าวร้าว จะกบดานนิ่งๆ อยู่ใกล้ระดับพื้น ว่ายน้ำเฉพาะเวลาออกล่าเหยื่อ ขี้ตื่นตกใจง่าย
ถิ่นอาศัย
อยู่ในแหล่งน้ำไหล พบในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำโขง
อาหาร
เนื้อปลา กุ้ง และแมลงน้ำ 

ปลานิล
ชื่อสามัญ : Nile Tilapia
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orcochromis niloticus
ลักษณะทั่วไป
เป็นรูปร่างคล้ายปลาหมอเทศ แตกต่างกันที่ปลานิลมีลายสีดำและจุดสีขาวสลับกันไป บริเวณครีบหลัง ครีบก้นและลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล มีลายดำพาดขวางตามลำตัวมีความยาวประมาณ 10 - 30 เซนติเมตร
นิสัย
อดทน เลี้ยงง่าย โตเร็ว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
ถิ่นอาศัย
ปลานิลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยเจ้าชายฮากิฮาโต มงกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 จำนวน 50 ตัว
อาหาร
จำพวกไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง 

ปลาแก้มช้ำ 
ชื่อสามัญ : Red-cheek Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Puntius orphoides
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดทั่วไปที่อยู่สกุลเดียวกับปลาตะเพียนขาว ลำตัวค่อนข้างยาว ด้านข้างแบน หัวเล็ก ปากค่อนข้างเล็ก อยู่ปลายสุด มีหนวดสั้น ๆ และเล็กจำนวน 4 เส้น มีเกล็ดค่อนข้างใหญ่สีตามบริเวณลำตัว และหัวจะเป็นสีขาวเงิน หลังสีน้ำตาลอ่อน กระพุงแก้มสีแดงเหมือนรอยช้ำ บริเวณช่องเปิดเหงือก มีสีแถบดำ ครีบหลัง,ครีบท้อง,ครีบก้นมีสีแดง ครีบหางจะมีสีแถบดำ
นิสัย
รับสงบ ตื่นตกใจง่าย มักกบดานเงียบ ๆ ไม่ค่อยว่ายน้ำนอกจากเวลาหาอาหาร
ถิ่นอาศัย
พบทั่วไปตามแหล่งน้ำไหล น้ำนิ่ง ในแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป
อาหาร
แมลง ซากพืช และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย 

ปลาเค้า 
ชื่อสามัญ : Great White Sheatfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wallagonia attu
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์เดียวกับปลาเนื้ออ่อน ลำตัวค่อนข้างแบนยาวคล้ายมีดดาบ ไม่มีเกล็ดตามลำตัว ลำตัวมีสีเงินปนเทา ท้องขาวอมส้ม ครีบต่าง ๆ สีเหลืองอ่อน นัยน์ตามีขนาดเล็ก ปากกว้าง มีฟันแหลมคมอยู่บนขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง ครีบหลังเล็ก ครีบก้นเป็นแผงยาวจรดโคนหาง มีหนวดยาวอยู่ 2 คู่ ที่ริมฝีปากบนและล่าง ครีบหางเล็กเป็นแฉกเว้า
นิสัย
ปราดเปรียวว่องไวไม่อยู่นิ่ง ว่ายน้ำเก่ง บางครั้งพุ่งตัวขึ้นเหนือน้ำ และปล่อยตัวให้ตกลงมาทำให้เกิดเสียงดัง
ถิ่นอาศัย
พบอยู่ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา บึงบอระเพ็ด แม่น้ำโขง
อาหาร
กินปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาสร้อย 

ปลาเทพา (ปลาเลิม)
ชื่อสามัญ : Chao Phraya Giant Catfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pangasius sanitwongsei
ลักษณะทั่วไป
ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในจำพวกปลาไม่มีเกล็ดหรือปลาหนัง จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาสวายและปลาเทโพมีขนาดลำตัวยาวถึง 2.5 เมตร และมีน้ำหนักมากว่า 100 กิโลกรัม เป็นปลากินเนื้อที่มีส่วนหัวค่อนข้างสั้นแต่มีลักษณะแบนและกว้าง มีลักษณะเด่นตรงที่มีก้านครีบอันแรกของครีบหลัง ครีบอก และครีบท้อง มีขนาดใหญ่และยื่นยาวเลยครีบออกไปมาก จึงดูสง่างามในเวลาว่ายน้ำมากกว่าปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน
นิสัย
รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ปกติจะว่ายน้ำตลอดเวลา
ถิ่นอาศัย
พบในประเทศไทยและประเทศในแถบอินโดจีน
อาหาร
อาหารที่ชอบได้แก่ซากสัตว์ที่ตายลอยอยู่บนผิวน้ำ แต่ลูกปลาขนาดเล็กมักชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่และอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำนิ่ง กินแมลงน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร 

ปลาเทโพ (ปลาหูหมาด) 
ชื่อสามัญ : Black Ear Catfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pangasius larnaudii
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายปลาสวาย เพราะเป็นปลาในสกุลเดียวกัน มีหัวโต หน้าสั้นทู่กว่าปลาสวาย ลำตัวยาว ค่อนข้างแบน นัยน์ตาค่อนข้างโต อยู่เหนือมุมปาก มีหนวดเล็กและสั้นอยู่ริมฝีปากบนมุมปากแห่งละคู่ ลักษณะมีสีคล้ำหรือสีน้ำเงินปนเทา หัวสีเขียว ท้องสีขาวเงิน มีจุดสีดำขนาดใหญ่อยู่เหนือครีบหู มีขนาดความยาวประมาณ 80 - 120 เซนติเมตร
นิสัย
รักสงบ ว่องไวปราดเปรียว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง
ถิ่นอาศัย
เคยชุกชุมในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันพบในแม่น้ำโขง
อาหาร
สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่า 

ปลาชะโด 
ชื่อสามัญ : Giant Snake-head Fish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Channa micropeltes
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืด ลำตัวกลมยาวเป็นรูปทรงกระบอก รูปร่างคล้ายคลึงกับปลาช่อน เป็นปลาที่มีรูปร่างใหญ่ที่สุดในสกุลนี้ ลูกปลาชะโดเมื่อยังเล็ก ลำตัวมีสีน้ำตาลและแถบสีเหลืองอมส้มพาดตามยาว โดยบริเวณโคนหางมีสีแดงสด เมื่อโตขึ้นส่วนบนของลำตัวมีสีเขียวอมน้ำเงินเข้มคลายสีเปลือกหอยแมลงภู่ ส่วนท้องสีขาว กึ่งกลางลำตัวมีแถบดำพาดไปตามความยาวของลำตัว ภายในปากมีฟันแหลมคม ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหางมนกลม ปลาชะโดมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจโดยไม่ต้องกรองผ่านช่องเหงือกเหมือนปลาช่อน
นิสัย
เป็นปลาน้ำจืดที่ค่อนข้างดุ
ถิ่นอาศัย
ในแม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
อาหาร
สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่า 

ปลาเสือพ่นน้ำ 
ชื่อสามัญ : Common Archer Fish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Toxotes chatareus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก พบได้ทั้งในแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย ลำตัวป้อมสั้นและแบนข้าง ความยาวลำตัวประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร พื้นลำตัวสีเงินแซมเหลือง บริเวณท้องมีสีขาวเงิน มีแถบสีดำขนาดใหญ่พาดขวางลำตัว 5 - 6 แถบ ปากมีขนาดใหญ่และเฉียงขึ้นข้างบน ดวงตากลมโต และอยู่ค่อนไปทางสันหลังกลับกลอกไปมาได้ สีของครีบหลังและครีบก้นเป็นสีส้มอมเหลือง ขอบครีบเป็นสีดำ ครีบหลังส่วนหน้ามีก้านครีบแข็ง
นิสัย
ปลาเสือมีความสามารถพิเศษอยู่สองประการ คือ สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่เหนือน้ำ ได้เป็นระยะห่าง 3 - 5 ฟุต และอีกประการหนึ่ง คือ สามารถพ่นน้ำได้สูงถึง 1.5 เมตร จากผิวน้ำ พ่นน้ำได้โดยแรงดันอย่างรวดเร็วของแผ่นปิดเหงือกกับช่องเล็กๆ ใต้เพดานปาก เพื่อให้เหยื่อตกลงมาและจับกินได้ เป็นปลาที่ก้าวร้าว ชอบอยู่รวมเป็นฝูง และลอยตัวอยู่ผิวน้ำ เพื่อคอยจับแมลงผิวน้ำกิน
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย อยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงที่มีทางเชื่อมติดต่อกับแม่น้ำและตามบริเวณปากแม่น้ำ
อาหาร
แมลงน้ำ ลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกน้ำ แมลงที่บินอยู่เหนือผิวน้ำ 

ปลาเสือสุมาตรา 
ชื่อสามัญ : Sumatran Tiger Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Systomus partipentazona
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก จัดอยู่ในสกุลเดียวกับปลาตะเพียน มีขนาดความยาวประมาณ 3 - 6 เซนติเมตร มีรูปร่างคล้ายคลึงกัน ลำตัวเรียวยาวและแบนข้าง พื้นลำตัวสีเหลืองอมน้ำตาล ปากและครีบทุกครีบจะมีสีแดง เกล็ดสีเหลืองอมเขียวและสีเหลืองอมน้ำตาล ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีแถบดำพาดขวางลำตัว 5 แถบ โดยพาดผ่านตา พาดผ่านหน้าครีบหลัง พาดผ่านโคนครีบหลัง พาดผ่านโคนครีบก้น และ บริเวณโคนหาง ปลาเสือสุมาตราตัวเมีย จะมีลำตัวที่ใหญ่และป้อมกว่าตัวผู้ แต่ตัวผู้จะมีรูปร่างเล็กเพรียวบางกว่าและมีสีเข้มจัดกว่าตัวเมีย
นิสัย
เป็นปลาที่ว่องไวปราดเปรียวไม่ค่อยอยู่นิ่ง ว่ายน้ำได้รวดเร็ว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง มีนิสัยก้าวร้าว
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหลและน้ำนิ่ง อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พบตามแม่น้ำ ลำธารและหนองบึง แพร่กระจายทั่วทุกภาคของประเทศไทย ชาวนครสวรรค์เรียกว่าปลาข้างลาย ทางภาคใต้เรียกว่า เสือสุมาตรา
อาหาร
ลูกกุ้ง ลูกน้ำ ลูกไร แมลงน้ำและเศษซากพืชและสัตว์เน่าเปื่อย 


ปลาสร้อยขาว (ปลาสร้อย หรือ ปลาสร้อยหัวกลม) 
ชื่อสามัญ : Jullien's Mud Carp
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Henicorhynchus siamensis
ลักษณะทั่วไป
ลำตัวปราดเปรียว แบนข้าง ปากมีขนาดเล็ก กึ่งกลางของริมฝีปากมีปุ่มกระดูกยื่นออกมา ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของปลาในตระกูลนี้คือไม่มีหนวด ตามปกติจะหากินกันเป็นฝูง ๆ ขนาดความยาวประมาณ 7 - 20 เซนติเมตร
นิสัย
รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง
ถิ่นอาศัย
พบทั่วไปทุกภาคของไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
อาหาร
พืชน้ำ แมลงน้ำ
การสืบพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์จะรวมกันเป็นฝูงใหญ่ แล้วจะอพยพตัวไปหาที่ที่เหมาะสมในการวางไข่ 

ปลาหมอตาล (ปลาอีตาล ปลาใบตาล หรือ ปลาวี) 
ชื่อสามัญ : Temminck's Kissing Gourami
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helostma temmicki
ลักษณะทั่วไป
รูปร่างป้อมสั้น ลำตัวแบนมากกว่าปลาหมอไทย หัว เล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ปากเล็กยืดหดได้ริมฝีปากหนา นัยน์ตาอยู่ในระดับเดียวกันกับมุมปาก มีเกล็ดขนาดปานกลางปกคลุม ส่วนหัว และลำตัว ครีบท้อง และครีบก้นยาว ลำตัวเป็นสีเขียวปนเทา หลังสีเทาปนดำ ท้องสีขาว พบทั่วไปมีความยาว 15 - 20 เซนติเมตร
นิสัย
อดทน เลี้ยงง่าย โดเร็ว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง
ถิ่นอาศัย
พบในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน
อาหาร
พันธุ์ไม้น้ำ แมลงน้ำ 

ปลาหมอช้างเหยียบ (ปลาหมอโค้ว หรือ ปลาก่า) 
ชื่อสามัญ : Striped Tiger Nandid
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pritolepis fasciatus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างป้อม ลำตัวด้านข้างแบน พื้นลำตัวสีเขียวหรือน้ำตาลปนเหลือง มีเกล็ด ปกคลุมทั่วตัว มีแถบสีดำพาดขวางลำตัวประมาณ 8-12 แถบ หัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ปากเล็กยืดหดได้เล็กน้อย มีฟันซี่เล็ก ๆ เป็นแถวอยู่บนขากรรไกรบนและล่าง รูจมูกแยกจากกันอย่างเด่นชัดและอยู่ชิดกับตา ครีบหลังมีสองส่วนเชื่อมติดกันเป็นแนวยาว ส่วนหน้าเป็นก้านเดี่ยวมีลักษณะเป็นหนามแหลมคม ส่วนหลังเป็นครีบอ่อน ครีบก้นใหญ่มีก้านครีบแข็งและมีลักษณะแหลมคม ครีบหางใหญ่ ปลายหางมนกลม มีขนาดความยาว 5 - 20 เซนติเมตร
นิสัย
มีนิสัยก้าวร้าว มักกัดทำร้ายกันเอง
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย พบตามลำคลอง หนอง บึงทุกภาค
อาหาร
ไข่ปลาทุกชนิด ลูกกุ้ง ลูกปลา แมลงน้ำ 

ปลาสลาด (ปลาฉลาด, ปลาตอง, ปลาหางแพน, ปลาวาง) 
ชื่อสามัญ : Grey Featherback
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Notopterus notopterus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างคล้ายปลากรายแต่มีขนาดเล็กกว่า ไม่มีจุดสีดำที่ครีบก้น ลำตัวมีสีขาวปนเทา ครีบหลังและครีบอกมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบท้องมีขนาดเล็กมาก ครีบก้นและครีบหางเชื่อมติดกันเป็นแผ่นเดียว โดยทั่วไปมีขนาดความยาว 15 - 20 เซนติเมตร ขนาดใหญ่สุดเท่าเคยพบมีความยาวถึง 30 เซนติเมตร
นิสัย
ขี้อาย ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ และหลบพักตามตอไม้หรือซอกหิน ไม่ชอบแสงสว่างมาก ออกหากินในเวลากลางคืน โดยชอบผุดขึ้นมาฮุบอากาศทำเสียงที่ผิวน้ำและม้วนตัวกลับให้เห็นข้างขาวคล้ายสีเงิน
ถิ่นอาศัย
พบในแม่น้ำคลองทั่วไปของทุกภาคของไทย
อาหาร
ลูกปลา ลูกกุ้ง
การสืบพันธุ์
ไม่ปรากฎในรายงาน 

ปลาสวาย 
ชื่อสามัญ : Siriped Catfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pangasianodon hypophthalmus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ดชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงสกุลเดียวกับปลาเทโพ มีรูปร่างลักษณะความเป็นอยู่คล้ายกับปลาเทโพ ลำตัวยาว มีสันหลังค่อนข้างตรง ส่วนหน้าจะลาดไปถึงบริเวณปาก หน้าทู่ปากกว้างมีหนวด 2 คู่ ลำตัวมีสีนวลขาว บริเวณหลังมีสีเข้ม ครีบมีสีเหลืองอ่อน ปลาขนาดเล็กจะมีแถบสีดำคาดลำตัว ขนาดความยาวประมาณ 20 - 10 เซนติเมตร
นิสัย
รักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงในที่ร่มใกล้พันธุ์ไม้น้ำ เลี้ยงง่าย โตเร็ว
ถิ่นอาศัย
ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงนครสวรรค์ และแม่น้ำโขง
อาหาร
พันธุ์ไม้น้ำ ลูกหอย หนอน ไส้เดือน 

ปลาหางไหม้ 
ชื่อสามัญ : Bala Shark
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Balantiocheilos melanopterus
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่สวยงามที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน รูปร่างเพรียวยาว เกล็ดค่อนข้างใหญ่ ครีบหางเว้าเป็นแฉกลึก ข้างลำตัวสีเงินวาว ครีบทุกครีบยกเว้นครีบหูเหลืองขลิบดำทางด้านหลัง
นิสัย
ปลาชนิดนี้ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ ในแม่น้ำและลำธารทั่วไป ว่ายน้ำปราดเปรียว ปลาชนิดนี้มีความสามารถในการกระโดดลอยสูงจากผิวน้ำได้สูงถึง 2 เมตร
ถิ่นอาศัย
พบปลาหางไหม้ในประเทศไทย ลาว กัมพูชา มลายู สุมาตราและบอร์เนียว
อาหาร
กุ้งขนาดเล็ก แมลงน้ำและสัตว์เล็กๆ อื่นๆ โดยการใช้ปากดูดจากซากหินและตะกอนก้นน้ำ ซากพืชและซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย
การสืบพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์ตกอยู่ในเดือนพฤษภาคม 

ปลาบ้า (ปลาพวง) 
ชื่อสามัญ : Hoeven's Slender Carp
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leptobarbus hoeveni
ลักษณะทั่วไป
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน เป็นปลาที่มีลำตัวยาว ค่อนข้างกลม หัวโต นัยต์ตาค่อนข้างโต ปากกว้าง มีหนวด 2 คู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่ ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนของหลังสีดำปนเทา ท้องสีขาวจาง ครีบหางสีชมพู ครีบอื่นสีแดงจาง ๆ ขนาดตามยาวประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร
นิสัย
รับสงบ ตื่นตกใจง่าย เลี้ยงง่าย โตเร็ว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ปราดเปรียวว่องไว
ถิ่นอาศัย
อยู่ตามน้ำไหล จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี นครสวรรค์ พิจิตร แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง
อาหาร
เมล็ดพืช และผลไม้ทุกชนิด 

ปลาแรด 
ชื่อสามัญ : Giant Gourami
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Osphronemus goramy
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ปลาหมอ ลำตัวสั้นป้อมและแบนข้าง เกล็ดมีขนาดใหญ่ หัวเล็กและป้าน ปากเฉียงขึ้นสามารถยืดหดได้ มีฟันแข็งแรง สันลำตัวส่วนที่อยู่ติดกับหัวจะโหนกสูงคล้ายนอแรด ครีบหลังและครีบก้นค่อนข้างยาว และมีก้านเป็นหนามแข็ง ครีบท้องมีก้านแข็ง 1 อัน ก้านครีบอ่อน 5 อัน ก้านครีบอ่อนคู่แรกมีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว ลักษณะคล้ายหนวดยาวเลยไปถึงปลายหาง คลีบหางมนกลมมีจุดสีดำที่โคนหางข้างละจุด สีสันของลำตัวจะเปลี่ยนไปตามขนาดและอายุของปลา เมื่อยังเล็กพื้นลำตัวจะเป็นสีม่วงอมเหลืองและมีแถบสีดำข้างและ 8 แถบ พาดขวางลำตัว เมื่อปลาโตขึ้นลำตัวด้านบนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนดำหรือสีเทา ด้านล่างเป็นสีขาวแกมเหลือง ส่วนจุดที่โคนหางจะเลือนหายไป มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ สามารถมีชีวิตอยู่บนบกได้นาน ๆ หรือสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ ๆ
นิสัย
เป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย และค่อนข้างเชื่องช้า มีนิสัยดุร้าย มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อม การวางไข่ของปลาชนิดนี้แตกต่างไปจากปลาชนิดอื่น กล่าวคือมันจะใช้กิ่งไม้ ก้านไม้และวัตถุอื่นๆ มาสร้างรังคล้ายรังนก ไข่ของปลาชนิดนี้มีขนาดใหญ่ มีไขมันมาก ลอยน้ำ
ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย ในแม่น้ำและหนองบึงที่มีทางน้ำติดต่อกันกับแม่น้ำ ภาคกลางพบที่แก่งกระจาน จังเหวัดเพชรบุรีและในลำน้ำเจ้าพระยาและสาขา ทางภาคใต้เรียกกันว่า ปลาเม่นหรือปลามิ่น พบในลำน้ำตาปีและสาขา
อาหาร
พืชแทบทุกชนิด 

ปลาสลิด (ปลาใบไม้) 
ชื่อสามัญ : Snake Skin Gourami
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichogaster pectoralis
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่มีลำตัวแบน รูปร่างคล้ายใบไม้ และเหมือนกับปลากระดี่หม้อ แต่ไม่มีจุดดำบนลำตัว มีแถบสีดำพาดขวางลำตัวเป็นริ้ว ๆ หลายแถบ ตัวผู้จะมีสีและแถบเข้มกว่า ตัวเมีย ลักษณะของครีบหลังก็สามารถใช้แยกเพศได้เหมือนกันคือ ตัวผู้จะมีกระโดงหลังยาวกว่าตัวเมีย
นิสัย
ก้าวร้าว มักกัดทำร้ายกันเอง และ ทำร้ายปลาที่เล็กกว่าอยู่เสมอ อดทน เลี้ยงง่าย มักหลบซ่อนตัวอยู่ตามพุ่มไม้รก ๆ
ถิ่นอาศัย
ในแม่น้ำ หนองบึง น้ำนิ่งตามที่ต่างๆ และที่ลุ่มภาคกลาง ในอดีตดอนกำยาน จังหวัดสุพรรณบุรี เคยเป็นแหล่งที่มีปลาสลิดชุกชุม และมีเนื้อที่มีรสชาติอร่อยยิ่งนัก ปัจจุบันมีการเลี้ยงอย่างเป็นล่ำเป็นสันในเขตจังหวัดสมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา
อาหาร
แมลงน้ำ ตัวอ่อน ลูกน้ำ ตะไคร่น้ำ แพลงตอน 

ปลาบึก 
ชื่อสามัญ : Mekong Giant Catfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pangasianodon gigas
ลักษณะทั่วไป
จัดเป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ ลำตัวมีความยาวเกือบ 3 เมตร และมีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม ลำตัวมีลักษณะยาวและแบนด้านข้าง ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่ ตามีขนาดเล็กไม่มีฟัน มีหนวดสั้นๆ ที่ขากรรไกรบน 1 คู่ซ่อนอยู่ในร่องตรงเลยมุมปาก ในขณะมีชีวิตสีลำตัวจะเป็นสีเทาออกแดงทางด้านหลัง ค่อยๆ กลายเป็นสีเทาแกมฟ้าทางด้านข้าง และสีขาวทางด้านใต้ท้อง มีจุดดำจุดหนึ่งทางด้านข้างตรงตำแหน่งปลายสุดของครีบหู และจุดดำอีกสามจุดบนครีบหาง ครีบทุกครีบสีเทาจางๆ
นิสัย
รักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณเขตน้ำลึกที่มีกระแสน้ำไหล
ถิ่นอาศัย
ปลาบึกพบอาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเท่านั้น เคยพบบ้างในแคว้นฉานของประเทศพม่า และแคว้นยูนาน ในประเทศจีนตอนใต้ ชอบบริเวณแม่น้ำที่มีความลึกมากกว่า 10 เมตร พื้นท้องน้ำเป็นกรวด และควรจะมีเพิงหินหรือถ้ำใต้น้ำด้วย
อาหาร
สาหร่ายที่ขึ้นอยู่ตามก้อนหินใต้น้ำเป็นอาหาร
การสืบพันธุ์
ฤดูวางไข่เชื่อว่าจะตกอยู่ราวเดือนกุมภาพันธ์ โดยปลาบึกจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่เหนือขึ้นไปจากประเทศไทย บริเวณหลวงพระบางในประเทศลาวซึ่งเป็นบริเวณนำลึกมีเกาะแก่งมากสะดวกในการผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูแล้ง พอถึงฤดูน้ำหลาก มันจะว่ายตามน้ำลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง
สถานภาพ
ในปัจจุบันประเทศไทยโดยทางกรมประมงได้ผสมเทียมปลาบึกเป็นผลสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และในปีต่อมาสามารถเพาะพันธุ์ได้จำนวนมากพอที่จะปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฎว่าปลาบึกเจริญเติบโตได้ดี แต่ยังไม่ทราบว่าจะผสมพันธุ์วางไข่ได้หรือไม่ ทุกปีจะมีเทศกาลจับปลาบึกขึ้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทำให้ปลาบึกที่โตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์ถูกจับปีละนับร้อยตัว เพื่อนำเอามาขายเป็นอาหารราคาแพง ทำให้ปริมาณของปลาบึกในแม่น้ำโขงลดจำนวนลงทุกปีๆ

ที่มา : 
http://www.fisheries.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น